หมดปัญญาออนไลน์ – modepanya online


คุณสมบัติอันยอกย้อนและร่วมสมัยในเงาสีขาว

เงาสีขาว ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง

โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

ไม่ว่าผู้อ่านทั่วๆไปจะแปลกใจหรือไม่ กับคำนิยามบทสันปกของนวนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่สองเมื่อตุลาคม 2550 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ว่า ‘นวนิยายร่วมสมัย’ แต่เชื่อว่าคงมีผู้อ่านส่วนหนึ่งที่รู้สึกแปลกใจว่าเหตุไฉนนวนิยายที่เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2526 สำเร็จในปี 2531 และกว่าจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกก็ในปี 2536 เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ฉาก ตัวละครในหนังสือเล่มนี้จึงยังขนานนามว่าร่วมสมัยได้อีก ทั้งที่ไม่ได้นำมาปรับแต่งอะไรใหม่อีกแล้ว

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, สเปน, อังกฤษ นักวิจารณ์ชาวยุโรปต่างยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 สาธารณรัฐฝรั่งเศสมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ Chevalier des Arts et des Lettres ให้แก่เขาในฐานะนักเขียนชาวไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศส

‘เงาสีขาว’ เป็นเรื่องราวชีวิตของชายธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงวัยเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มจนถึงวัยค่อนชีวิต ซึ่งดูแล้วไม่มีความดีอะไรติดตัวและความชั่วก็มิได้ปรากฏ เขาพัวพันกับผู้หญิงหลายต่อหลายคนในเวลาที่ต่างกันบ้าง ในขณะเดียวกันบ้าง ลักลอบบ้าง จู่โจมบ้าง ตลอดระยะเวลาในชีวิตเขาผจญกับสำนึกด้านดีที่ต้องยับยั้งชั่งใจกับความคิดด้านเลวที่กระสันอยากไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่อัตราส่วนของมันอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบเผชิญ จนสุดท้ายดูเหมือนว่าความคิดด้านดีจะมีปริ่มพอดีกับด้านเลว จากนี้ชีวิตเขาจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไป และมันจะเปลี่ยนอัตราส่วนดี-เลวของเขาไปในทิศทางไหนกันแน่

ด้วยเรื่องราวของ ‘เงาสีขาว’ กำลังจะบอกเล่าชีวิตคนหนึ่งเกือบค่อนชีวิตจึงไม่ต้องแปลกใจที่นวนิยายเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ยาวมากเรื่องหนึ่ง นั่นย่อมหมายความว่า หากจะให้ผู้อ่านติดตามไปจนจบเรื่องโดยที่เข้าใจและลึกซึ้งไปกับความรู้สึกรู้สาของตัวละครที่ต่อสู้กับตัวเองในเหตุการณ์ต่างๆของชีวิตที่กำลังประสบอยู่นั้น กลวิธีในการเล่าเรื่องต้องถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านไล่สายตาไปบนตัวอักษรจนจบเรื่อง ต้องทำให้น่าติดตาม ต้องทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งไปกับความดีของตัวละคร และแขยงขยาดไปกับความชั่วร้ายของไอ้สัตว์นรกตัวหนึ่งได้ด้วย ซึ่งแดนอรัญก็ทำได้สำเร็จใน ‘เงาสีขาว’

แม้ว่า‘ความยาว’ ของ ‘เงาสีขาว’ จะเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน แต่ความยาวก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ ‘เงาสีขาว’ ที่จำเป็นต้องมี มิใช่เพราะมีเรื่องราวมากมายในชีวิตของหนุ่มคนนี้ที่จะบอกเล่าจึงต้องร่ายไปยืดยาว แต่ที่ ‘เงาสีขาว’ มีความยาวขนาดนี้นั้น ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของ ‘ระยะเวลาที่ผู้อ่านอ่านจริง’ กับ ‘ระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง’ ใน ‘เงาสีขาว’ ด้วย

ปกติแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิยายส่วนใหญ่มักจะยาวนานกว่าเวลาที่ผู้อ่านนั่งอ่าน ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาในเรื่องผ่านไป 20 ปี แต่ผู้อ่านเพียงแค่พลิกไปสิบยี่สิบหน้าโดยใช้เวลาอ่านเพียงครึ่งชั่วโมงก็ทราบความเป็นไปทั้งหมดของตัวละครตลอด 20 ปีนั่นแล้ว แต่สำหรับ ‘เงาสีขาว’ นั้นกลับกัน ซึ่งตรงจุดนี้ผู้อ่านจำเป็นต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง และจุดนี้เองที่ทำให้ความยาวกลายเป็นเสน่ห์พอๆกับที่มันเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน ‘เงาสีขาว’

ในขณะที่‘รูปแบบการนำเสนอ’ ที่แดนอรัญออกแบบมานั้นก็เป็นอุปสรรคของนักอ่านอีกด้วย เพราะผู้อ่านจะต้องเก็บเหตุการณ์จากคำพูดพร่ำบ่นก่นด่าสิ่งต่างๆนานาแม้กระทั่งตัวเอง มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวในความคิดของผู้อ่านเอง จำเป็นต้องแยกให้ออกว่าถ้อยประโยคไหนเป็น ความคิดของ ‘ฉัน’ หรือ ความคิดของ ‘แก’ เพราะจะทำให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจกระทำการในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ชัดเจน การกระทำเหล่านั้นทำลงไปด้วยความคิดแบบใด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การกระทำตัวละครตัดสินใจทำตามความคิดนั้นมาจากความรู้สึกแบบใด ผู้อ่านจะเก็บเกี่ยวทั้งเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกไปได้ทั้งหมดภายในประโยคเดียว รูปแบบเช่นนี้เองที่เป็นเสน่ห์พอๆกับที่มันเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน ‘เงาสีขาว’

ส่วน ‘เรื่องราว’ ก็เป็นทั้งอุปสรรคและเสน่ห์ของ ‘เงาสีขาว’ อีกเช่นกัน เหตุการณ์ต่างๆใน ‘เงาสีขาว’ นั้นอาจไม่ได้การยอมรับจากผู้อ่านจำพวกหนึ่งซึ่งงับคำว่า ‘ศีลธรรม’ อยู่เต็มปากแต่ไม่เห็นความเป็นจริงในสังคมไทย บางทีอาจไม่เห็นหรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองก็ถือ ‘สาก’ อยู่ในมือด้วย และจะแสร้งทำท่าขยะแขยงมันราวกับว่าไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งเหล่านี้ในสังคมไทย จึงทำให้ผู้อ่านเหล่านั้นไม่แยแสมัน และอาจจะเผานวนิยายเรื่องนี้ทิ้งเสียด้วยซ้ำ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วในสังคมไทยก็ตาม

แต่สำหรับผู้อ่านที่มีทั้งกายและใจถึงพร้อมด้วยศีลธรรมไม่ว่าจะถือสากไว้หรือไม่ ทว่าเป็นผู้ที่เห็นความจริงที่เกิดอยู่ใต้พรมของสังคมไทย จะยอมรับเหตุการณ์เรื่องราวที่ดำเนินไปของ ‘เงาสีขาว’ ได้โดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์มัน จะเข้าใจและยอมรับทุกปัญหาของสังคมไทยที่ได้จำลองไว้ในนวนิยายเรื่องนี้

หากผู้ใหญ่ซึ่งมีเยาวชนที่เป็นวัยรุ่นอยู่ในการปกครอง ตัดสินว่าจะต้องนำ ‘เงาสีขาว’ ให้ห่างจากมือเด็กของท่านให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อมิให้เอาเป็นแบบอย่างหรือเกิดความคิดที่เกินเด็กในด้านเพศ ฉะนั้นแล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับการผลักให้พวกเขาเซถลามึนงงจนไม่เข้าใจความเป็นไปและความจริงของสังคม หรือแม้กระทั่งความเป็นธรรมชาติของตัวพวกเขาเอง ก็ลองคิดดูว่าเด็กในการปกครองของผู้ใหญ่เหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไรและจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

หากผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่หาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมเหล่านี้โดยตรง รวมถึงผู้ปกครองของเหล่าเยาวชนทั้งหลายนั้น มีปัญญา มีวุฒิภาวะและไม่หน่อมแน้ม ได้โอกาสซึมซับรับ ‘เงาสีขาว’ เข้าไปด้วยใจที่เปิดกว้างแล้ว มันจะเป็นประโยชน์ยิ่งถ้าได้นำปัญหาเหล่านั้นมาศึกษาหารากเหง้าต้นตอมันอย่างจริงจังแล้วหาวิธีถอนรากถอนโคนปัญหา หรืออย่างน้อยก็ป้องกันมิให้มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้ ‘เงาสีขาว’ ยังเป็นนวนิยายร่วมสมัยกับสังคมไทยโดยไม่ต้องผ่านการดัดแปลงเลยแม้แต่นิด



ใครหลงลืมอะไรบางอย่าง

we-forget-something1

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง
เขียน: วัชระ สัจจะสารสิน
สำนักพิมพ์: นาคร
พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2551
ราคา: 160 บาท
วิจารณ์โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี 2551 ของรวมเรื่องสั้น ‘เราหลงลืมอะไรบางอย่าง’ คงจะทำให้ผู้อ่านหลายคนไม่หลงลืมที่จะหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน มิฉะนั้นชะตากรรมของมันคงไม่ต่างจากรวมเรื่องสั้นของนักเขียนไทยคนอื่นๆ ที่ไร้ร้างผู้อ่านจนถือได้ว่า ผู้เสพเรื่องสั้นเป็นตลาดกลุ่มย่อย (niche market) ซึ่งไม่มีนายทุนทำหนังสือหน้าใหม่หน้าไหนสนใจจะลงทุนหากไม่รักในวงการนี้จริงๆ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่ายังมีนักอ่านอีกหลายคนลืมที่จะหยิบรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มาอ่าน แต่มันร้ายกว่านั้นคือนักอ่านเหล่านั้นไม่รู้จักรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เลยต่างหาก ผู้เขียนไม่ได้เป็นทายาทของใครที่มีชื่อเสียง ไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์ที่โด่งดัง และไม่ได้มีงานเขียนต่อเนื่องยาวนานมาเป็นครึ่งค่อนชีวิต ฯลฯ ผู้เขียนไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงทำให้งานของเขาแม้จะได้รับรางวัลที่ปลุกกระแสได้ดีที่สุดในประเทศนี้แล้วก็ตาม ก็ยังเป็นงานที่ไม่มีใครรู้จักหรือสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการได้

เพราะงานของเขาไม่โดดเด่นพอ หรือเพราะนักอ่านไทยเป็นอย่างนี้ หรือเพราะไม่มีใครศรัทธากับรางวัลซีไรต์นี้อีกแล้ว 12 เรื่องสั้นของ ‘วัชระ สัจจะสารสิน’ ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะเป็นคำตอบได้ดี

นักปฏิวัติ – ความหมายของคำว่าปฏิวัติในเรื่องนี้นั้นทุกคำเป็นความหมายในด้านบวกทั้งสิ้น แต่เรื่องราวสามารถแสดงให้เห็นถึงความโง่งมของตัวละครที่หมกมุ่นเรื่องราวของนักปฏิวัติในอดีต เรื่องได้ให้บทสรุปเกี่ยวกับการปฏิวัติของตัวละครเอง เป็นการฝากคำถามให้นักอ่านว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติเป็นสิ่งที่คิดวางแผนมาอย่างดีแล้วหรือเกิดขึ้นจากการเอาตัวรอดกันแน่

การนำเสนอรายละเอียดของฉากและชีวิตของตัวละครได้ขับเน้นความมีชีวิตได้ดีระดับหนึ่ง แต่สำนวนการรำพึงรำพันของตัวละครกลับทำให้ตัวละครกลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ค่อยจะมีชีวิต กลายเป็นตัวตลกตื่นตูมไม่เป็นธรรมชาติโลดแล่นอยู่ในฉากที่จัดไว้โดยมีผู้ชมอยู่อีกด้านหนึ่งและแทรกเสียงหัวเราะมาเป็นห้วงๆ

เรื่องเล่าจากหนองเตย – ประเด็นที่เรื่องนี้พูดถึงคือเรื่องของความคิดแบบฝังหัวของสังคมไทย โดยสื่อผ่านเรื่องเล่าอาถรรพ์บริเวณหนองเตย เรื่องดำเนินผ่านมุมมองผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่ในวัยเด็กจนเติบใหญ่แต่ในด้านความคิดมิได้เติบโตขึ้นสักเท่าไร ดังจะเห็นได้ว่าแม้ผู้สังเกตการณ์จะผ่านเหตุการณ์ที่น่าโศกเศร้าจากการสูญเสียของน้าชัยแล้วก็ตาม ซึ่งน้าชัยก็ได้รับผลจากความคิดแบบฝังหัวจากกรณีสงครามและการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกันตัวผู้สังเกตการณ์เองก็ยังมีความคิดแบบฝังหัวในเรื่องอาถรรพ์ของหนองเตยฝังหัวอยู่ เป็นการเทียบเคียงให้เห็นความงมงายของความเชื่อของสังคมไทย แม้ว่าจะได้รับการศึกษาแล้ว หรือมีประสบการณ์ต่างๆ นานาที่ผ่านเข้ามาให้เรียนรู้แล้วแต่สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้และนำมาปรับปรุงความคิดหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเลย ซึ่งจากประโยคสุดท้ายของเรื่องเหมือนผู้เขียนจะบอกกับผู้อ่านว่าผู้ที่มีความคิดแบบฝังหัวอยู่มักจะไม่รู้ตัวและก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับความคิดอันคร่ำครึของตนเองแม้แต่น้อย

หาแว่นให้หน่อย – สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนในเรื่องการเมืองของไทยตั้งแต่อดีต เมื่ออ่านจบแล้วอาจยังไม่เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร ผู้อ่านจำเป็นต้องคิดตรึกตรอง เปรียบเทียบ และค้นหาความนัยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็ยังเป็นความยากลำบากอยู่ดีที่จะเข้าถึงเรื่องสั้นนี้อย่างลึกซึ้งได้ ผู้ที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการเมืองไทยคงเข้าใจแค่เพียงว่าการทำรัฐประหารไม่ต่างอะไรกับการนอนทับแว่นครั้งแล้วครั้งเล่าจนมันต้องบิดเบี้ยวพังไป และเมื่อไม่มีแว่นสิ่งเดียวที่ชายคนนี้ทำได้ก็คือการระบายความกระสันตามที่ตัวเองต้องการเท่านั้นเอง

เพลงชาติไทย – ได้ถ่ายทอดให้เห็นความโหดร้ายและรุนแรงของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรักชาติแบบคลั่งชาติ’ โดยผ่านการแสดงความเคารพเพลงชาติ โยนคำถามให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้วการแสดงออกซึ่งความรักชาติเป็นเช่นไร

ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ – ผู้เขียนเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงโหยหาอดีต เรื่องราวอันเอื่อยเนือยในฉากงานประเพณีท้องถิ่นที่ของวันสงกรานต์งานรวมญาติที่เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝันขึ้น ผู้อ่านจะไม่ได้ขบคิดประเด็น หรือตีความอะไรต่อได้อีกนอกจาก อ่านเพื่อรับทราบคำพร่ำบ่นถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องที่ง่ายเกินไปในการนำเสนอ ที่จับความแตกต่างของอดีตและปัจจุบันมาชนกันโดยที่ไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใดๆ กับเหตุการณ์นี้ได้เลย

บาดทะยัก – เป็นเหตุการณ์ธรรมดาของสามีภรรยาคู่หนึ่งในช่วงเวลาก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ เรื่องสั้นเรื่องนี้ก่อให้เกิดการตีความได้หลายชั้นความคิด เมื่อคิดตามเรื่องก็คงหนีไม่พ้นประเด็นความแตกต่างของการป้องกัน ความกลัวโรคติดต่อ ในช่วงเวลาก่อนและหลังมีเซ็กซ์ ความยับยั้งชั่งใจนั้นมักจะมาหลังจากการเสร็จกิจแล้ว หรือหากคิดตีความต่อในเรื่องความยั้งคิดของมนุษย์ขณะที่ตนต้องเผชิญหน้ากับความตาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ต่อความกระสันของตัวมนุษย์เอง ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าความตายอาจจะคลืบคลานเข้ามา ก้อนความคิดนี้สามารถนำมาเป็นตัวแปรและนำเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไปแทนค่าได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัว ในกรณีความซื่อสัตย์ต่อสามีหรือภรรยาของตน ไปจนถึงเรื่องระดับโลกอย่างกรณีโลกร้อนก็ตีความไปได้เช่นกัน ด้านตัวละคร คำพูด และพฤติกรรมก็เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาไม่ขาดเกิน นี่เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดในรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

ราตรีมีชีวิต – เรื่องราวของชนชั้นแรงงานในเมืองซึ่งเสมือนถูกบังคับให้เข้าสู่ระบอบทุนนิยมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ตัวละครชั้นแรงงานเหล่านี้อยู่ในภาวะจำยอมและในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า การที่ตัวละครไม่พอใจและพยายามเหยียดตัวเองออกจากระบอบทุนนิยม ลึกๆ แล้วก็อาจมองได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับผลประโยชน์จากระบอบทุนนิยม

วาวแสงแห่งศรัทธา – ยังมีบางช่วงที่เป็นน้ำเสียงของการสั่งสอนและบ่นโดยตรงสู่ผู้อ่าน แต่ก็นับว่าเรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นดีอยู่ ก็เพราะสื่อความรู้สึกของบรรยากาศความไม่ไว้วางใจแบบการเมือง การมีวาระซ่อนเร้นที่หาความจริงได้ยากจากปากนักการเมือง จนต้องใช้ความเป็นพ่อลูกในการเชื่อถือคำพูดกัน วาวแสงที่ว่านั้นอาจทำให้คนพวกหนึ่งมีความหวังอย่างแรงกล้าขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้คนอีกพวกหนึ่งหันหน้าหนีและเมินเฉยต่อมันได้เช่นกัน ด้วยว่าหมดหวังกับผู้คนที่อยู่ในชนชั้นปกครองของบ้านนี้เมืองนี้แล้ว

แก้วสองใบ – เป็นเรื่องสั้นที่นำสองเหตุการณ์มาเกี่ยวโยงกันด้วยการเปรียบเปรยแบบสัญลักษณ์ พูดถึงความคิดความรู้สึกของหญิงคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทเป็นแม่ของลูกที่กำลังน่ารัก เป็นภรรยาของสามีที่สร้างปัญหาให้กับเธอตลอดเวลาในความเห็นของเธอ เธอจึงต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยความรู้และการศึกษาที่เธอมี กลับได้จากการตัดสินใจเล็กของแม่บ้านที่บริษัท ซึ่งแท้จริงแล้วถ้าเธอใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาเรื่องแก้วของเธอก็จะได้แก้วทั้งสองใบกลับคืนมา เหมือนที่เธอไม่ต้องเลือกระหว่างลูกกับสามีของเธอ เรื่องราวสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้วิชาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง กับการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตมันเป็นคนละเรื่องกัน และผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ ก็มักมีปัญหาชีวิตและตัดสินใจแก้ปัญหาในชีวิตไม่ต่างกับคนด้อยการศึกษา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเรียนรู้การใช้ชีวิตมากกว่านี้ หรือว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การศึกษาวิชาชีพนั้นต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ชีวิตพร้อมกันไปด้วย

วิทยานิพนธ์ดีเด่น – แสดงให้เห็นลักษณะของผู้ที่มีการศึกษาในระดับสูงแลเป็นหัวกะทิคนหนึ่งซึ่งใช้สติปัญญาคิดวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ปัญหานั้นเป็นปัญหาที่มากระทบกับตนเองเท่านั้น พูดให้ง่ายคือ เรื่องสั้นนี้ได้แสดงให้เห็นความเห็นแก่ตัวของคนผู้มีการศึกษา แสดงให้เห็นตั้งแต่ระบบการคิด พฤติกรรมในการแก้ปัญหาของคนจำพวกนี้ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มขึ้นในสังคมของเรา

ฟ้าเดียวกัน – เรียกว่าเป็นการแฉผู้ที่เรียกตัวเองว่านักปฏิวัติ แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของผู้ที่ต่อต้านเผด็จการ ผู้ที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยมหรืออย่างน้อยเขาก็แสดงตนว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นจากเมื่อครั้งอดีต แต่ยอมรับความแตกต่างของลูกตนเองไม่ได้ ผู้เขียนใช้รูปแบบในการนำเสนอความรู้สึกและภาวะจิตใจของลูกสู่ผู้อ่านได้อย่างน่าเชื่อ และก็สามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ว่าคนอย่างนักปฏิวัติผู้เป็นพ่อแท้ๆ นั้นก็สามารถกระทำการอย่างนั้นกับลูกของตัวเองได้จริง ก็ด้วยลักษณะของนักต่อสู้ที่เคยชินกับความเด็ดขาด ผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม หัวเก่า และมีความยึดติดกับความคิดเก่าๆ ของตัวเอง

วันหนึ่งของชีวิต – ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้อย่างไม่ได้ชี้นำให้โยงไปถึงเรื่องในความหมายหรือนัยยะอื่นใด นอกจากเล่าเรื่องโดยเริ่มต้นจากความตายในงานศพแม่ของเพื่อนและจบลงที่การระลึกถึงวันเกิดของตัวละครเอง โดยที่ระหว่างการดำเนินเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ตัวละครประสบสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดคือ ความไม่แน่นอนของชีวิต น้ำเสียงของเรื่องเล่าโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึก เป็นเพียงการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าตัวละคร เพื่อให้เดินเรื่องจนมาพบกับจุดที่ตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่าจะให้เป็นจุดจบของเรื่อง จึงทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ขาดชีวิตชีวาเหือดแห้งแล้งความรู้สึก เรื่องนี้ผู้เขียนน่าจะเขียนขึ้นจากการปั้นแต่งขึ้นล้วนๆ

โดยรวมแล้วรวมเรื่องสั้น ‘เราหลงลืมอะไรบางอย่าง’ ยังคงเน้นปลุกสำนึกอะไรบางอย่างกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง สำนึกเหล่านั้นมาจากความคิดของคนหัวเก่าที่ไม่ได้พบเจอสภาพสังคมแวดล้อมอย่างทุกวันนี้ เรียกว่าเป็น ‘สำนึกจากอดีต’ นี่อาจจะเป็นทางออกให้กับคนในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะทำให้ถูกเบียดตกยุคไปก็ได้

แท้จริงนั้นไม่ใช่เพียงแค่ ‘สำนึกจากอดีต’ ที่อาจจะช่วยให้สังคมเราดำรงคงอยู่ได้อย่างปกติสุข ‘สำนึกในปัจจุบัน’ เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะแท้จริงเราไม่ได้อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่อะไรก็ตาม แต่เราอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หรือใครว่าไม่จริง



ที่นี่ฉงนฉงาย ที่ไหนฉลาดเฉลียว —‘ที่อื่น’

ที่อื่น
กิตติพล สรัคคานนท์ เขียน
สำนักพิมพ์: ไชน์ พับลิชิ่ง เฮาส์
พิมพ์ครั้งแรก: มกราคม 2550
ราคา: 95 บาท
วรวิช ทรัพย์ทวีแสง วิจารณ์

กล่าวได้อย่างโดยรวมว่า รวม 12 เรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ นั้น ได้นำภาษาอันเรียบง่ายธรรมดามาให้ออกมาในบริบทที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ อาจต้องใช้สมาธิอย่างสูงในการอ่านเพื่อเรียบเรียงเหตุการณ์ที่แสนจะธรรมดานั่นออกมาได้อย่างปะติดปะต่อ

การทำให้เรื่องราวธรรมดาให้กลับน่าสนใจขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทักษะในการเรียบเรียง เพื่อได้เรื่องราวที่น่าติดตามและชวนผู้อ่านให้ได้เห็นมุมและประเด็นใหม่ของเรื่อง หรืออาจจะรวมความไปจนถึงการตีความด้วย เหมือนอย่างที่ ‘วาด รวี’ ผู้รับหน้าที่บรรณาธิการของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้กล่าวชวนให้ผู้อ่านตีความไว้ดังนี้

“…รวมเรื่องสั้น ที่อื่น ที่ท่านกำลังจะได้อ่านนั้น ผู้เขียนเคยคิดจะใช้อีกชื่อหนึ่ง คือ อนาลัย แต่ไม่รู้ผู้เขียนนึกอย่างไรจึงกลับมาใช้ชื่อ ที่อื่น ซึ่งเป็นชื่อเดิมอีกครั้ง แต่ไม่ว่าจะเป็น ที่อื่น หรือ อนาลัย ล้วนเป็นชื่อที่ต้องตีความ…”

การตีความนั้นจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจเนื้อความของเรื่องนั้นเสียก่อน แล้วจึงนำเนื้อความนั้นมาขบคิดและตีความต่อความหมายที่แฝงไว้ หากแต่รวมเรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ ได้สร้างอุปสรรคแก่ผู้อ่านในการเข้าใจเนื้อความเบื้องต้น ผู้อ่านบางท่านอาจอ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย ซึ่งการจะทำความเข้าใจกับเนื้อความที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ผู้อ่านต้องนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเรียบเรียงในจินตนาการของผู้อ่านเองเสียใหม่อีกครั้ง

เมื่อผู้อ่านทราบเนื้อความต่างๆ ชัดเจนดีแล้ว เนื้อความเหล่านั้นก็มิได้มีการดึงดูดให้ผู้อ่านได้ตีความแต่อย่างใด เป็นเพียงเนื้อความเรียบๆ ง่ายๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง หรือจะเกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง ที่ร้านอาหารเศร้าๆ แห่งหนึ่งริมทางหลวงก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งทำได้เพียงแค่ชวนให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยเท่านั้น ว่าเหตุใดต้องเป็นเวลาบ่าย เหตุใดต้องเป็นในร้านอาหาร ร้านอาหารเศร้าๆ นั้นเป็นอย่างไร ทำไมต้องอยู่ริมทางหลวง เพราะมันอยู่ริมทางหลวงหรือมันจึงได้เศร้า เป็นต้น

เรื่องของการตีความนั้นขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะมีความสามารถในการแฝงความหมาย เพื่อตอบรับกับการตีความของผู้อ่านได้มากน้อยเพียงใด มิใช่แค่การสร้างความงุนงงสงสัยให้ผู้อ่านเพียงเท่านั้น

เรื่องราวใน ‘ที่อื่น’ นั้นไม่ได้ระบุว่าเกิดขึ้นที่ไหน ไม่มีแม้แต่ชื่อตัวละคร เป็นแต่เพียงคำสรรพนาม ‘เขา’ และ ‘เธอ’ ที่นอกเหนือจากนั้นจะบ่งบอกด้วยสถานะที่ตัวละครนั้นเป็น เช่น พ่อ, แม่, สามี, ภรรยา, เพื่อน, ตำรวจ, ทหาร, พนักงาน ฯลฯ แต่ละเรื่องสั้นได้พูดถึงความสัมพันธ์ของคน ความรัก ความตาย ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ว่าสังคมใดๆ ต้องพบเจอ โดยผู้เขียนได้เน้นไปที่มุมมองของชนชั้นกลางซึ่งเห็นได้ชัดเจนในเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่อง มีความเป็นไปได้ว่า ‘ที่อื่น’ แห่งนั้นคือ ‘โลกของชนชั้นกลาง’

เมื่ออ่านไปจนถึงเรื่องสุดท้ายแล้ว (เรื่อง ‘อนาลัย’) มีความโน้มเอียงทำให้ผู้อ่านคิดถึงเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยเรา แต่มิได้มีการระบุไว้เป็นข้อความหรือหลักฐานทางอักษรว่าผู้เขียนหมายความถึงเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของไทย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ใดๆ เพราะไม่ระบุไว้ และไม่ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ใดๆ ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ

เรื่อง ‘อนาลัย’ นั้นได้ตีกรอบจินตนาการผู้อ่านเพื่อให้นำไปเติมลงในช่องว่างของเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องก่อนหน้า คือ เรื่องทั้งหมดในเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องอาจเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย หรือ เกิดในส่วนต่างๆ ของประเทศไทยนี่เอง

ซึ่งเมื่อผู้อ่านเป็นคนไทยได้อ่านรวมเรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ ก็เป็นไปได้ง่ายที่จะคิดถึงสถานที่ใกล้ๆ ตัวอย่างแถวบ้าน หรือแถบจังหวัดของตัวเองอยู่แล้ว

เป็นไปได้ยากมากที่ผู้อ่านจะได้คิดถึงคำว่า ‘ที่อื่น’ ในความหมายของสถานที่ใดๆ ที่อาจมีหรือไม่มีอยู่จริง แม้เพียงให้ผู้อ่านคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในส่วนใดๆ ของโลกก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน

แต่มันได้มีการตีกรอบจินตนาการของผู้อ่าน(อย่างน้อยก็ผู้อ่านที่เป็นคนไทย)ให้แคบลงไปอีก ด้วยเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย ‘อนาลัย’ ซึ่งไม่ควรจัดรวมอยู่ในเล่มนี้ที่สุด

ปัญหาและความคิดเหล่านั้นไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ มันได้เกิดอะไรขึ้น แล้วส่งผลอย่างไรต่อผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถจะรู้สึกได้แค่ไหน แล้วผู้เขียนเองได้เอื้อให้ผู้อ่านตีความเนื้อความเหล่านั้นมากน้อยอย่างไร

ในบรรดาเรื่องสั้นทั้ง 12 นั้นโดยตัวเนื้อเรื่องแล้วให้อารมณ์ต่างๆ กัน แต่ด้วยภาษาของผู้เขียนและการสร้างบริบทที่ใส่ความ ‘คิดมาก’ ลงไปอย่างเบียดแน่นของทุกประโยค ทำให้อารมณ์ของเรื่องสั้นทั้ง 12 นั้นออกมาในแนวเดียวกัน เป็นเสียงเล่าของผู้ที่รู้ที่เห็นทุกสิ่ง มีความฉลาดปราดเปรื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นเสียงเล่าของ ‘พระเจ้า’ ทำให้ในบางอารมณ์ก็แยกไม่ออกว่ากำลังอ่าน ‘คำเทศนา’ หรือ ‘เรื่องราว’ กันแน่

ผู้เขียนมีความโดดเด่นในด้านความคิดอันบรรเจิด หากได้สอดแทรกความคิดเหล่านั้นอย่างพอเหมาะพอเจาะและเติมความมีชีวิตของตัวละครให้โดดเด่นขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับความโดดเด่นของรูปแบบ จะทำให้งานของผู้เขียนมีความสมดุล และทำให้งานของผู้เขียนกระทบใจผู้อ่านได้มากขึ้น



กรณีที่ต้องศึกษาใน ‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’
5 มิถุนายน 2008, 5:26 pm
Filed under: - หนอนไชหนังสือ | ป้ายกำกับ: ,

กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ
เขียน: ชาติวุฒิ บุณยรักษ์
สำนักพิมพ์: หมูเพนกวิน
พิมพ์ครั้งแรก: ธันวาคม 2550
ราคา: 140 บาท
วิจารณ์โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

บนปกเป็นภาพแกะตัวเล็กลายเส้นสีเขียวนับสิบๆ ตัวหันหน้าไปท้ายซ้ายของปกเหมือนกันหมด มีเพียงแกะตัวเดียวที่หันหัวสลับด้านแถมยังเป็นลูกแกะสีทองตัวหนังสือประทับไว้ที่ตัวแกะว่า ‘รวมเรื่องสั้น’ ปกหลังมีแกะสีทองตัวหนึ่งพร้อมร่องรอยกัดกินบาร์โค้ดไปทำให้มันแหว่งวิ่นไป เพียงแค่ปกก็ทำให้เห็นถึงอารมณ์ขันซ่อนอยู่ของหนังสือเล่มนี้แล้ว

ผลงานลำดับที่สามของ ‘ชาติวุฒิ บุณยรักษ์’ เล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสือเรื่องสั้นดีเด่น จากการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปีพ.ศ.2551 และนอกจากนั้นผลงานที่ผ่านมาก็มีรางวัลประทับตราทั้งสิ้น ลำดับแรก ‘ตำนานสุดท้าย-ไอ้มดแดง’ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 เล่มสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปีพ.ศ.2548 ลำดับที่สอง ‘นาฏกรรมเมืองหรรษา’ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้นจากการประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประจำปีพ.ศ.2550

‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ บรรจุเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่องซึ่งสะท้อนย้อนแย้งของพฤติกรรมของคนในสังคมในสังคมที่แผ่ซ่านไปด้วยทุนนิยมเต็มขั้น ทุกสิ่งสามารถแทนค่าเป็นสิ่งของและเงินตราได้ แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นความศรัทธา ความรัก ความเชื่อมั่น ฯลฯ

‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่สร้างขี้นด้วยวิธี ‘จับผสม’ คือดึงประเด็นที่เรามักเห็นในรายการเล่าข่าวและหน้าหนังสือพิมพ์ นั่นเป็นคุณสมบัติที่นักเขียนผู้สร้างสรรค์เรื่องสั้นหรือนิยายต้องมี ยิ่งถ้างานนั้นออกมาในแนวทางของการสะท้อนสภาพสังคมแล้วนักเขียนต้องเป็นดั่งฟองน้ำดูดซับความเป็นไปของสังคมเข้าไว้ คุณสมบัติเหล่านี้ผู้เขียนมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัว

คุณสมบัติเหล่านี้มีไว้เพื่อนำไปผลิตผลงานที่สามารถสะท้อนสังคมได้ถึงแก่น และบางทีอาจต้องมีทางออกให้กับสังคมแฝงไว้ให้ผู้อ่านได้กลับไปคิดต่อ ใน ‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ นั้นผู้เขียนทำได้เพียงเสนอความเป็นไป เป็นความจริงเบื้องต้นที่ผู้ติดตามข่าวสารแม้ไม่ได้เป็นนักเขียนก็สามารถจินตนาการถึงได้

‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ จึงไม่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เป็นเสมือนเพียงการเล่าข่าวให้มีสีสันด้วยแทรกตลกร้ายเข้าไปให้น่าติดตามเท่านั้น และความน่าติดตามใน ‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ อีกประการหนึ่งอยู่ที่รูปแบบการนำเสนอ ผู้อ่านจะติดตามอ่านไปจนจบเพียงเพื่อต้องการทราบว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้น เหมือนการนั่งรับชมข่าวบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นในรายการเล่าข่าว บางข่าวก็แปลก บางข่าวก็ชวนขัน ฯลฯ

หากพูดในแง่ของ ‘สาร’ ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านความคิดของผู้เขียนถึงผู้อ่านให้คิดในขณะอ่านเรื่องนั้นถือว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จมาก และเนื่องจากผู้เขียนนั้นยึดติดกับข่าวสารและปริมาณของข้อมูลมากเกินกว่าที่จะทำให้เรื่องราวเหล่านี้มีชีวิตชีวาขึ้นได้ ถ้าหากพูดในแง่ของ ‘ศิลปะ’ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเรื่องแต่งแล้วผู้เขียนยังไม่ผ่านตรงจุดนี้ หากทำให้ทั้งสองสิ่งนี้สมดุลกันได้ ‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ จะคมความคิดและงดงามด้วยความมีศิลปะมากทีเดียว

เรื่องสั้นที่น่าผิดหวังที่สุดในความเห็นของผมคือเรื่อง ‘บัวห้าดอก’ กับศีล 5 ที่มีความเหมือนกับเรื่อง ‘Seven’ กับบาป 7 ประการ ภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนออกฉายปี 1995 นำแสดงโดย ‘แบรด พิตต์’ และ ‘มอร์แกน ฟรีแมน’ ในเรื่องรายละเอียดของคดีและสภาพแวดล้อมของฉากนั้นต่างกัน แต่ก็นับว่ามีความคิดที่คล้ายคลึงกันมาในเรื่องของฆาตกรรมต่อเนื่องที่นำคำสอนมาเป็นแรงจูงใจของฆาตกร ถึงขั้นมีประโยคคำพูดที่เหมือนกันของตัวละครที่เป็นตำรวจแบบคำต่อคำ “…มันต้องการจะเทศนาพวกเรา…”  หากผู้เขียนได้เขียนเรื่องนี้ก่อนปีดังกล่าวก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรเขียนเดือนปีที่เขียนกำกับไว้

เพราะการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ถือเป็นสิ่งที่ศิลปินผู้สร้างศิลปะควรมี บางคนอาจแย้งขึ้นว่าสิ่งใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว มีแต่การจับผสมของแรงบันดาลใจจากอดีตทั้งสิ้น หากเป็นอย่างนั้นก็ต้องแยกความแตกต่างระหว่าง ‘แรงบันดาลใจ’ กับ ‘การลอกเลียน’ ซึ่งผู้ที่ต้องนำกลับไปไตร่ตรองก็คือผู้สร้างสรรค์ศิลปะนั่นเอง ส่วนผู้ที่เสพศิลปะจะถือเป็นผู้ตัดสินงานชิ้นนั้นๆ อีกครั้ง

กับรางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี ของ ‘กรณีศึกษาเรื่องลูกแกะฟันผุ’ ถือเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดีว่า การตัดสินใจอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งจากรางวัลที่หนังสือเล่มนั้นได้รับ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลซีไรต์ เซเว่นบุ๊ค นายอินทร์อวอร์ด ยังไทยอาร์ตติสสาขาวรรณกรรม ฯลฯ ไม่ทำให้ผู้อ่านได้พบผลงานอันทรงคุณภาพได้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากเรื่องของรสนิยมและเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการแล้ว รางวัลบางรางวัลนั้นเป็นเพียงการแฝงกลอุบายทางการตลาดเพียงเท่านั้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะ ‘รู้ทัน’ บรรดารางวัลต่างๆ ของโลกวรรณกรรมที่มีการมอบรางวัลกันอย่างพร่ำเพรื่อนี้หรือไม่ หากผู้อ่านไม่คิดจะเปิดอ่านและไตร่ตรองถึงคุณภาพด้วยตัวเอง ผู้อ่านจะกลายเป็นเหยื่อของบรรดารางวัลและรวมถึงผู้เขียนวิจารณ์ในสายวรรณกรรมมอมเมาให้หลงเชื่อว่า งานเหล่านั้นคือหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน เล่มนี้ไม่ควรค่าแก่การอ่าน หากเป็นเช่นนั้นก็จะมีแต่ผู้อ่านที่เขลาลงเรื่อยๆ

เพราะความคิดอันหลากหลายของผู้อ่านนั้นจะเป็นเกณฑ์กำหนดคำว่า ‘คุณภาพ’ ได้ดีกว่า ‘รางวัล’ แน่นอน



ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต : เป็นคุณจะเลือกฝั่งไหน?
21 เมษายน 2008, 7:52 pm
Filed under: - หนอนไชหนังสือ | ป้ายกำกับ:

 

โดย  เวสารัช โทณผลิน

ในโลกใบกลมดวงนี้มีเรื่องสองมุมที่ดำรงขนานกันมากมาย โดยฟากฝั่งทั้งสองด้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มนุษย์สามารถคัดแยกระหว่างดี เลว บวก ลบ ได้ชนิดไม่ยากเข็ญอะไรนัก

แต่การเลือกด้านในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำหนักกลับเป็นสิ่งที่ยากจะชี้ชัดตัดสิน  หรือนำเหตุผลมาสนับสนุนคัดคานได้ว่า ระหว่างความหนักอึ้งกับเบาหวิว สิ่งใดคู่ควรแก่การเลือกข้างเพื่อสถิตย์ยืนมากกว่ากัน

เพราะบางครั้ง การมีภาระหน่วงหนัก อาจมิใช่สิ่งเลวร้าย หรือสภาวะไร้น้ำหนัก เบาหวิว ก็คงจะไม่น่ายินดี…เสมอไป  

ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ มิเพียงเป็นนวนิยายชื่อแปร่งหูชวนขันหรือน่าสนเท่ห์เท่านั้น หากทว่าวรรณกรรมฝีมือการประพันธ์ของ ‘มิลาน คุนเดอลา’ เรื่องนี้ ยังเป็นการเรียงร้อยเรื่องราวที่เคลือบคลุมไปด้วยนานาคำถามตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งแก่นสารของคำถามเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะมีผู้ใดหยิบมาครุ่นคิดใคร่ครวญ เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป  หรือคำถามที่เวียนย้อนกลับมาสู่จุดตั้งต้นทุกครั้งที่ต้องการจะไขคลาย

‘คุนเดอลา’ ใช้ความเอกอุในเชิงนักคิด นักตั้งคำถามเชื่อมโยงไปสู่การเป็นนักประพันธ์นวนิยาย  “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต” เรื่องนี้ คุนเดอลาเปิดเริ่มมาในลักษณะของการตั้งคำถามที่หยิบปุจฉาแปลกๆ มาวิเคราะห์ใคร่ครวญ เขาค่อยๆ พิจารณามันอย่างเชื่องช้า อารมณ์ คำถาม คำตอบ และแนวความคิด ตลอดจนทัศนคติที่เกิดขึ้นบรรทัดต่อบรรทัดสร้างความรู้สึกสดใหม่เสมือนว่าคุนเดอลากำลังนั่งเผชิญหน้าหาคำตอบไปพร้อมๆ กับผู้อ่าน ผ่านการพลิกผ่านแบบหน้าต่อหน้า บรรทัดต่อบรรทัด และย่อยลึกลงไปชนิดคำต่อคำเลยทีเดียว

ลักษณาการที่คุนเดอลาใช้ในการเล่าเรื่อง คือการแทนตัวเองเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับผู้อ่าน กล่าวคือการแสดงตัวเป็นบุคคลที่ 3 ที่กำลังเฝ้ามองติดตามเรื่องราวของตัวละครอย่าง โทมัส, เทเรซา, ซาบินา, ฟรานซ์ ตลอดจนคาเรินนิน เขาสร้างความรู้สึกให้ตัวละครทุกตัวดำเนินเรื่องด้วยตัวเองโดยแสร้งว่าปราศจากการควบคุม การเบี่ยงมายืนอยู่ตำแหน่งเดียวกับผู้อ่านของผู้ประพันธ์ซึ่งทำได้อย่างกลมกลืน  ทำให้ลีลาเล่าเรื่องของคุนเดอลามีความน่าสนใจจนส่งให้ตัวละครทุกตัวเคลื่อนไหวใช้ชีวิตราวกับมีลมหายใจและเลือดเนื้ออยู่จริง

‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ เป็นนวนิยายที่ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักทั้ง 4 ซึ่งได้รับการนำเสนอที่เด่นชัดและเท่าเทียม จากจุดเริ่มต้นเรื่องเกี่ยวกับการไม่กล้าตัดสินใจของชายคนหนึ่ง ลากพาไปสู่เรื่องของความสัมพันธ์ ที่มีสายโยงเชื่อมกระชับระหว่างตัวละครที่ 1 ไปสู่ตัวละครที่ 2, 3 ,4 ,….  แล้วเวียนกลับมายึดไว้กับตัวละครที่ 1 อย่างกลมกลืนสวยงาม  มิเพียงแค่ภาพความเชื่อมโยงที่นำเสนอได้อย่างมีชั้นเชิง แต่อารมณ์ ด้านลึกและเลือดเนื้อของตัวละคร ที่ถูกเผยแพร่ผ่านบทหลักทั้ง 7  บทก็มีพลังพล่านอยู่ในบทยิบย่อยของบทใหญ่ๆ ทั้ง 7 นั้น

หนึ่งในผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางถ่ายทอดนวนิยายเรื่องนี้สู่นักอ่านชาวไทย ซึ่งควรจะได้รับความดีความชอบและคำชมเชยไม่ด้อยกว่าผู้ประพันธ์ คือ ‘ภัควดี วีรภาสพงษ์’ ผู้แปลซึ่งสามารถคัดคำ เลือกศัพท์ ใช้ภาษาให้สื่อเรื่องที่คุนเดอลาร้อยเรียงออกมาได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ทั้งไพเราะรื่นตาและน่าติดตาม ทำให้รสนวนิยายจากฝีมือการประพันธ์ของวรรณกรชาวเชคท่านนี้กลมกล่อมนุ่มนวลยิ่งขึ้น

การแบ่งภาคของ’ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ จำแนกออกมาได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน ไม่ทับซ้อน แม้จะมีชื่อภาคที่เหมือนและซ้ำกันถึงสองภาค สองครั้ง แต่เนื้อหาการดำเนินเรื่องในแต่ละภาคกลับเปลี่ยนแปลงและไม่ย่ำรอยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังเป็นการเติบโตทางด้านความคิด ชีวิต และเรื่องราวของตัวละครอย่างแท้จริง

มวลโดยรวมของ ‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ เป็นการนำเสนอมุมมอง ทัศนคติที่ผู้เขียนมีต่อสังคม การเมือง และมนุษย์ด้วยการต่อยอดจากคำถามแรกเริ่มที่ว่าด้วย การแบ่งเลือกฝั่งฝ่ายเรื่องน้ำหนัก สานต่อไปถึงความสัมพันธ์ หยอกเล่นกับสันดานส่วนลึกของมนุษย์ และเสียดสีแวดวงการเมืองในยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้อย่างแสบปลาบถึงขั้วหัวใจ

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ภาคความเบาหวิวและน้ำหนัก จวบถึงภาคที่ชื่อ รอยยิ้มของคาเรนนิน คุนเดอลาพาผู้อ่านดำดิ่งสู่เรื่องราวของตัวละครนับสิบ ด้วยคำถามและคำถาม ลักษณะการนำคำถามมาใช้เล่าเรื่องของเขา มิใช่การตั้งมันขึ้นมาแล้วพยายามหาข้อสรุปแบบรีบลน  หากแต่เป็นการค่อยๆ ต่อเติมเชื้อสงสัยให้โชนคุอยู่ข้างใน แล้วเพิ่มลามจนกลายเป็นเพลิงปุจฉา

จะว่าไป จนถึงบทสรุปในบรรทัดสุดท้าย เพลิงดังกล่าวก็ใช่จะถูกดับดาวให้สูญไป หากแต่ความสงสัยและปัญหาต่างๆ กลับยังแผ่กิ่งแตกก่อต่อยอดอยู่ในใจของทั้งผู้อ่านและผู้เขียนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และไม่มีความจำเป็นจะต้องจบสิ้น