หมดปัญญาออนไลน์ – modepanya online


คุณสมบัติอันยอกย้อนและร่วมสมัยในเงาสีขาว

เงาสีขาว ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง

โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

ไม่ว่าผู้อ่านทั่วๆไปจะแปลกใจหรือไม่ กับคำนิยามบทสันปกของนวนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่สองเมื่อตุลาคม 2550 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ว่า ‘นวนิยายร่วมสมัย’ แต่เชื่อว่าคงมีผู้อ่านส่วนหนึ่งที่รู้สึกแปลกใจว่าเหตุไฉนนวนิยายที่เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2526 สำเร็จในปี 2531 และกว่าจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกก็ในปี 2536 เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ฉาก ตัวละครในหนังสือเล่มนี้จึงยังขนานนามว่าร่วมสมัยได้อีก ทั้งที่ไม่ได้นำมาปรับแต่งอะไรใหม่อีกแล้ว

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, สเปน, อังกฤษ นักวิจารณ์ชาวยุโรปต่างยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 สาธารณรัฐฝรั่งเศสมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ Chevalier des Arts et des Lettres ให้แก่เขาในฐานะนักเขียนชาวไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศส

‘เงาสีขาว’ เป็นเรื่องราวชีวิตของชายธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงวัยเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มจนถึงวัยค่อนชีวิต ซึ่งดูแล้วไม่มีความดีอะไรติดตัวและความชั่วก็มิได้ปรากฏ เขาพัวพันกับผู้หญิงหลายต่อหลายคนในเวลาที่ต่างกันบ้าง ในขณะเดียวกันบ้าง ลักลอบบ้าง จู่โจมบ้าง ตลอดระยะเวลาในชีวิตเขาผจญกับสำนึกด้านดีที่ต้องยับยั้งชั่งใจกับความคิดด้านเลวที่กระสันอยากไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่อัตราส่วนของมันอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบเผชิญ จนสุดท้ายดูเหมือนว่าความคิดด้านดีจะมีปริ่มพอดีกับด้านเลว จากนี้ชีวิตเขาจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไป และมันจะเปลี่ยนอัตราส่วนดี-เลวของเขาไปในทิศทางไหนกันแน่

ด้วยเรื่องราวของ ‘เงาสีขาว’ กำลังจะบอกเล่าชีวิตคนหนึ่งเกือบค่อนชีวิตจึงไม่ต้องแปลกใจที่นวนิยายเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ยาวมากเรื่องหนึ่ง นั่นย่อมหมายความว่า หากจะให้ผู้อ่านติดตามไปจนจบเรื่องโดยที่เข้าใจและลึกซึ้งไปกับความรู้สึกรู้สาของตัวละครที่ต่อสู้กับตัวเองในเหตุการณ์ต่างๆของชีวิตที่กำลังประสบอยู่นั้น กลวิธีในการเล่าเรื่องต้องถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านไล่สายตาไปบนตัวอักษรจนจบเรื่อง ต้องทำให้น่าติดตาม ต้องทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งไปกับความดีของตัวละคร และแขยงขยาดไปกับความชั่วร้ายของไอ้สัตว์นรกตัวหนึ่งได้ด้วย ซึ่งแดนอรัญก็ทำได้สำเร็จใน ‘เงาสีขาว’

แม้ว่า‘ความยาว’ ของ ‘เงาสีขาว’ จะเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน แต่ความยาวก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ ‘เงาสีขาว’ ที่จำเป็นต้องมี มิใช่เพราะมีเรื่องราวมากมายในชีวิตของหนุ่มคนนี้ที่จะบอกเล่าจึงต้องร่ายไปยืดยาว แต่ที่ ‘เงาสีขาว’ มีความยาวขนาดนี้นั้น ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของ ‘ระยะเวลาที่ผู้อ่านอ่านจริง’ กับ ‘ระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง’ ใน ‘เงาสีขาว’ ด้วย

ปกติแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิยายส่วนใหญ่มักจะยาวนานกว่าเวลาที่ผู้อ่านนั่งอ่าน ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาในเรื่องผ่านไป 20 ปี แต่ผู้อ่านเพียงแค่พลิกไปสิบยี่สิบหน้าโดยใช้เวลาอ่านเพียงครึ่งชั่วโมงก็ทราบความเป็นไปทั้งหมดของตัวละครตลอด 20 ปีนั่นแล้ว แต่สำหรับ ‘เงาสีขาว’ นั้นกลับกัน ซึ่งตรงจุดนี้ผู้อ่านจำเป็นต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง และจุดนี้เองที่ทำให้ความยาวกลายเป็นเสน่ห์พอๆกับที่มันเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน ‘เงาสีขาว’

ในขณะที่‘รูปแบบการนำเสนอ’ ที่แดนอรัญออกแบบมานั้นก็เป็นอุปสรรคของนักอ่านอีกด้วย เพราะผู้อ่านจะต้องเก็บเหตุการณ์จากคำพูดพร่ำบ่นก่นด่าสิ่งต่างๆนานาแม้กระทั่งตัวเอง มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวในความคิดของผู้อ่านเอง จำเป็นต้องแยกให้ออกว่าถ้อยประโยคไหนเป็น ความคิดของ ‘ฉัน’ หรือ ความคิดของ ‘แก’ เพราะจะทำให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจกระทำการในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ชัดเจน การกระทำเหล่านั้นทำลงไปด้วยความคิดแบบใด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การกระทำตัวละครตัดสินใจทำตามความคิดนั้นมาจากความรู้สึกแบบใด ผู้อ่านจะเก็บเกี่ยวทั้งเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกไปได้ทั้งหมดภายในประโยคเดียว รูปแบบเช่นนี้เองที่เป็นเสน่ห์พอๆกับที่มันเป็นอุปสรรคของผู้อ่าน ‘เงาสีขาว’

ส่วน ‘เรื่องราว’ ก็เป็นทั้งอุปสรรคและเสน่ห์ของ ‘เงาสีขาว’ อีกเช่นกัน เหตุการณ์ต่างๆใน ‘เงาสีขาว’ นั้นอาจไม่ได้การยอมรับจากผู้อ่านจำพวกหนึ่งซึ่งงับคำว่า ‘ศีลธรรม’ อยู่เต็มปากแต่ไม่เห็นความเป็นจริงในสังคมไทย บางทีอาจไม่เห็นหรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองก็ถือ ‘สาก’ อยู่ในมือด้วย และจะแสร้งทำท่าขยะแขยงมันราวกับว่าไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งเหล่านี้ในสังคมไทย จึงทำให้ผู้อ่านเหล่านั้นไม่แยแสมัน และอาจจะเผานวนิยายเรื่องนี้ทิ้งเสียด้วยซ้ำ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วในสังคมไทยก็ตาม

แต่สำหรับผู้อ่านที่มีทั้งกายและใจถึงพร้อมด้วยศีลธรรมไม่ว่าจะถือสากไว้หรือไม่ ทว่าเป็นผู้ที่เห็นความจริงที่เกิดอยู่ใต้พรมของสังคมไทย จะยอมรับเหตุการณ์เรื่องราวที่ดำเนินไปของ ‘เงาสีขาว’ ได้โดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์มัน จะเข้าใจและยอมรับทุกปัญหาของสังคมไทยที่ได้จำลองไว้ในนวนิยายเรื่องนี้

หากผู้ใหญ่ซึ่งมีเยาวชนที่เป็นวัยรุ่นอยู่ในการปกครอง ตัดสินว่าจะต้องนำ ‘เงาสีขาว’ ให้ห่างจากมือเด็กของท่านให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อมิให้เอาเป็นแบบอย่างหรือเกิดความคิดที่เกินเด็กในด้านเพศ ฉะนั้นแล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับการผลักให้พวกเขาเซถลามึนงงจนไม่เข้าใจความเป็นไปและความจริงของสังคม หรือแม้กระทั่งความเป็นธรรมชาติของตัวพวกเขาเอง ก็ลองคิดดูว่าเด็กในการปกครองของผู้ใหญ่เหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไรและจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

หากผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่หาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมเหล่านี้โดยตรง รวมถึงผู้ปกครองของเหล่าเยาวชนทั้งหลายนั้น มีปัญญา มีวุฒิภาวะและไม่หน่อมแน้ม ได้โอกาสซึมซับรับ ‘เงาสีขาว’ เข้าไปด้วยใจที่เปิดกว้างแล้ว มันจะเป็นประโยชน์ยิ่งถ้าได้นำปัญหาเหล่านั้นมาศึกษาหารากเหง้าต้นตอมันอย่างจริงจังแล้วหาวิธีถอนรากถอนโคนปัญหา หรืออย่างน้อยก็ป้องกันมิให้มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้ ‘เงาสีขาว’ ยังเป็นนวนิยายร่วมสมัยกับสังคมไทยโดยไม่ต้องผ่านการดัดแปลงเลยแม้แต่นิด